
5 วิธีสอนลูกให้รู้จักมารยาทในการเข้าสังคม(ขั้นพื้นฐาน)
📍ประโยคตัวอย่าง ที่อยากให้อ่านและลองพิจารณาดู
A. “เด็กคนนี้น่ารักจัง มารยาทดี๊ดี พ่อแม่เขาสอนมาดีจริง ๆนะ”
B. “เด็กอะไรไม่มีมารยาทเลย หน้าตาก็ดีนะแต่กระด้างมาก พ่อแม่เขาเลี้ยงกันมายังไง?”
สองประโยคข้างต้นที่ยกมาเป็นตัวอย่างในวันนี้ ทำให้เรามองเห็นอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็กสองคน
📍เด็กคนที่หนึ่ง เป็นเด็กน่ารักที่มีมารยาทดีงามจนผู้ใหญ่เอ่ยปากชื่นชม แล้วยังชมเชยเลยไปถึงคุณพ่อคุณแม่ของเด็กด้วย (แต่เราไม่รู้ว่าเด็กมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรจะหน้าตาขี้ริ้วหรือน่ารักก็ยังไม่แน่ใจ) แต่พอจะวาดภาพในใจได้ว่า ครอบครัวและพ่อแม่ของเด็กต้องคอยสอนและอบรมลูกให้เป็นเด็กที่รู้จักวางตัวสุภาพอ่อนน้อมมีมารยาทงดงามจึงได้รับคำชื่นชมดังที่เห็นในรูปประโยคตัวอย่าง A.
📍เด็กคนที่สอง จากรูปประโยคตัวอย่าง B. ทำให้เห็นได้ชัดคือ เด็กน่าจะไม่น่ารักเพราะขาดมารยาทที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการมีมารยาทเมื่อต้องเข้าสังคม และพ่อแม่ของเด็กก็ถูกคาดเดาถึงการไม่สั่งสอนเด็กให้ดีด้วย (ซึ่งพ่อแม่อาจจะสอนแล้วหรืออาจจะไม่ได้อบรมเด็กให้ดีเท่าที่ควรก็ได้) สังเกตในประโยคได้อีกสิ่งหนึ่งว่า เด็กคนที่สองนี้เป็นเด็กหน้าตาดีน่ารัก แต่ความมีหน้าตาดีนั้นหมดไปจากสายตาของผู้อื่นเพราะความกระด้างของนิสัยและขาดมารยาทที่ดี
✨มารยาทในการเข้าสังคมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนาและเชื้อชาติ การที่คนเราจะมีมารยาทที่ดีและรู้จักการเข้าสังคมอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากได้นั้นจะต้องเรียนรู้ว่า มารยาทในสังคมขั้นพื้นฐานควรมีอะไรบ้าง และควรได้รับการฝึกอบรมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กให้ติดเป็นนิสัยไปจนโตหรือตลอดชีวิตเลยก็ว่าได้
✨พ่อแม่บางท่านคิดว่าเรื่องมารยาทในการเข้าสังคมเป็นเรื่องไม่สำคัญ ไว้รอให้ลูกโตก็เรียนรู้ได้เอง หรือคิดว่าเป็นหน้าที่ของคุณครูที่จะเป็นผู้สอนซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดมาก มารยาทการเข้าสังคมของเด็กต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในครอบครัวเริ่มตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กทารกกันเลยทีเดียว เช่น สอนให้เด็กรู้จักไหว้ผู้ใหญ่ ไหว้ขอบคุณ ไหว้ขอโทษ และควรเป็นการไหว้ที่มีความตั้งใจมีความเคารพด้วย หรือ เมื่อเห็นผู้ใหญ่นั่งอยู่เด็กควรนั่งลงไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ ถ้าจะต้องเดินผ่านผู้ใหญ่ หรือ พระสงฆ์ แม่ชี ครู อาจารย์ เด็กควรค้อมหลังลงเล็กน้อยแล้วค่อย ๆ เดินผ่านไปอย่างสุภาพ การแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ ทั้งสายตา คำพูด ควรมีมารยาทและมีคำลงท้ายที่ไพเราะน่าฟัง เช่น ครับ/ค่ะ ไม่แสดงอาการเย่อหยิ่ง หรือ ส่งเสียงดังอย่างไร้สติรวมถึงไม่ใช้คำหยาบ ไม่ใช้คำผวน ไม่เอาปมด้อยของผู้อื่นมากระเซ้าแหย่ประจานในที่สาธารณะหรือกับบุคคลอื่น ๆ ที่สนทนาด้วยอย่างขาด เป็นต้น
📍5 มารยาทในการเข้าสังคมที่เด็กควรมี (ขั้นพื้นฐาน)📍
1. การไหว้ เด็กต้องยกมือไหว้ผู้ใหญ่ก่อนเสมอ ทั้งต้องกล่าวคำทักทายเช่น สวัสดีครับ/สวัสดีค่ะ อย่างสุภาพอ่อนน้อมและเป็นการไหว้ที่มีความตั้งใจไม่ใช่แค่สักแต่ไหว้ส่ง ๆ ไป เมื่อจะลากลับเด็กก็ควรไหว้สวัสดีเพื่อขอตัวลากลับด้วย เป็นการรู้จักคำว่า “ไปลามาไหว้” และมีสัมมาคารวะ
2. เมื่อต้องการสิ่งใดควรถามหรือขออนุญาตก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่ควรสอนลูก เพราะการมีมารยาทในการหยิบจับหรือใช้ของใด ๆ ก็ตามโดยเฉพาะของผู้อื่น ลูกต้องถามหรือขออนุญาตเจ้าของให้เขาอนุญาตก่อนจึงใช้ได้ ห้ามถือวิสาสะเด็ดขาด
3. รู้จักขอโทษและยอมรับผิด พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักกล่าวคำขอโทษถ้าลูกทำผิดพลาดกับผู้อื่น ด้วยความองอาจเพราะการขอโทษเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของผู้ดีที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด
4. ควรรู้จักกาลเทศะ เด็ก ๆ ควรเรียนรู้เรื่องกาลเทศะให้มาก ๆ เช่น เมื่อผู้ใหญ่กำลังสนทนากันเด็กควรหลบไปเล่นที่อื่นก่อนแต่ไม่ไกลเกินไป เพราะเผื่อพ่อแม่จะเรียกให้มาช่วยบางสิ่งบางอย่างได้ไม่ยากนัก ไม่ส่งเสียงดัง ไม่วิ่งซุกซนหรือเข้ามาแทรกกลางวงสนทนาของผู้ใหญ่ มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจหรือสามารถเห็นได้บ่อย ๆ คือ อย่าปล่อยให้ลูกวิ่งเล่นหรือส่งเสียงดังบนรถประจำทาง รถไฟฟ้า หรือเรือโดยสาร เพราะเป็นการรบกวนผู้อื่นและอาจเกิดอันตรายได้
5. เมื่อลูกต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ควรสอนให้เด็กรู้จักวัฒนะธรรมของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น นั่นคือ การมีน้ำใจไมตรีต่อหมู่คณะ ร่วมแรงร่วมใจสามัคคีกัน ไม่อิจฉาริษยาและไม่แบ่งแยกพรรคพวกแบ่งกลุ่มจนขาดความสามัคคี มีการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างดีเพื่อกิจกรรมของหมู่คณะจะได้สำเร็จลุล่วง เมื่อถึงเวลากินก็กินด้วยกันแต่เมื่อถึงเวลาต้องเก็บต้องล้างก็ช่วยกันทุกคนไม่หลบ ไม่อู้งาน เป็นเด็กดีมีน้ำใจนักกีฬา รู้จักการให้อภัยและมีความจริงใจต่อผู้อื่น
#EcofriendlyToy #sansanook #sansanookpapertoy #sansanookplaytime #momandbaby #บ้านกระดาษ #ของเล่นกระดาษลัง
Facebook: Sansanook