
ปลูกจิตอาสาในจิตใจของลูกตั้งแต่เขายังเป็นเด็กน้อย
จิตอาสาคืออะไร บุคคลอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเป็นคนมีจิตอาสา และประโยชน์ของการปลูกฝังความมีน้ำใจเป็นจิตอาสาให้กับลูกรักของเราดีอย่างไรเรามาลองศึกษาไปด้วยกันค่ะ
จิตอาสาหรือจิตสาธารณะสมัยก่อนเขาเรียกว่า “อาสาสมัคร” แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า จิตอาสา
จิต คือ ใจ จิตใจ / อาสา คือ ความสมัครใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเพื่อสังคมอย่างไม่หวังผลตอบแทน และเป็นคนที่เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม เช่น สละทรัพย์ สละกำลังกายกำลังสติปัญญา เสียสละเวลา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน-ทุกข์ร้อนต้องการความช่วยเหลือต่าง ๆ และรวมถึงการทำงานเพื่อสังคมตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลของรัฐ มูลนิธิ การสอนหนังสือเด็กในสลัม และอีกมากมายที่ยังต้องการผู้มีน้ำใจมีจิตอาสาเข้ามาให้ความช่วยเหลือพวกเขา
ใครสามารถเป็นจิตอาสาได้บ้าง?
ความจริงทุกคนสามารถเป็นจิตอาสาได้ ไม่ว่าจะเป็น เด็ก-ผู้ใหญ่, คนหนุ่มสาว-คนมีอายุ, ผู้ชาย-ผู้หญิง, คนทำงาน-พ่อบ้าน-แม่บ้าน, คนรวย-คนฐานะปานกลาง-คนจน, คนทุกชาติ ทุกศาสนา ล้วนเป็นคนมีจิตอาสาได้ เพราะจิตอาสาหมายถึง บุคคลที่เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือสังคมอย่างไม่หวังผลตอบแทน มีความเต็มใจแห่งการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ อย่างจริงใจ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีเมตตาต่อผู้อื่น
4 วิธีฝึกลูกให้เป็นเด็กมีจิตอาสา
1. พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในครอบครัวต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กดูด้วยการเป็นผู้ที่รู้จักเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่นและสังคมรอบข้าง เช่น พาลูกไปร่วมกิจกรรมจิตอาสากับคนในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ มีจิตอาสาอยากช่วยครอบครัวแบ่งเบาภาระของพ่อแม่อย่างเต็มใจ เช่น ช่วยทำความสะอาดรอบบ้านให้สะอาดน่าดูน่าชม การบริจาคเงินหรือสิ่งของช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยพิบัติ เป็นต้น
2. มอบหน้าที่ประจำให้เด็กทำและรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นงานที่ทำเพื่อทุกคนในครอบครัวด้วย เช่น ช่วยเก็บและพับเสื้อผ้าให้คนในครอบครัว ช่วยล้างจานหรือรดน้ำต้นไม้ ตามความเหมาะสมของวัย
3. ยกตัวอย่างคนที่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติที่น่าภาคภูมิใจให้ลูกได้รับรู้
4. พาเด็กไปร่วมกิจกรรมจิตอาสาที่ใหม่ ๆ สร้างความน่าประทับใจ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีทำให้เด็ก ๆ ภูมิใจในตัวเองมากขึ้นที่ได้ทำสิ่งดี ๆ ในชีวิต
การบ่มเพาะปลูกฝังเมล็ดพันธ์แห่งการเป็นคนมีจิตอาสาให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้เขาลดความเห็นแก่ตัวลง และรู้จักให้ความกรุณาปราณีมีเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้น เป็นคนไม่นิ่งดูดายชอบช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอีกด้วย