
แม่จ๋าของหายอีกแล้ว เอ๊ะ!หรือลืมไว้ที่ไหนก็ไม่รู้
ปัญหาของหายกับเด็กเล็กวัยอนุบาลถึงเด็กชั้นประถมต้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเจอกันเป็นประจำ ของที่หายบ่อย เช่น เงินค่าขนม ดินสอสี ยางลบ ดินสอกด กบเหลาดินสอ รองเท้า เป็นต้น
เมื่อลูกบอกว่า “ของหาย” พ่อแม่ควรช่วยอย่างไร
1. การที่ลูกกล้าบอกพ่อแม่ว่า “หนูทำของหาย” นั่นแสดงว่าเขามีความกล้าหาญและยอมรับความผิดพลาด พ่อแม่จึงควรตั้งใจรับฟังด้วยดีอย่าเพิ่งแสดงอาการไม่พอใจหรือใช้น้ำเสียงดุว่าตำหนิลูก เพราะจะทำให้เขาคิดและจดจำว่า การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาโดนดุ ทำให้พ่อแม่ไม่พอใจ แล้วอีกหน่อยเมื่อเขาทำอะไรผิดเขาจะไม่กล้าบอกความจริงให้พ่อแม่ทราบ
2. ค่อย ๆ ปลอบและช่วยลูกทบทวนว่า ทำหายหรือไปหลงลืมไว้ตรงไหนรึเปล่า เช่น มีใครขอยืมแล้วไม่เอามาคืนไม๊ เก็บของเข้ากระเป๋า/เก็บใส่กล่องดินสอทุกครั้งที่ใช้เสร็จรึเปล่า, มีเพื่อนที่ใช้ของเหมือนเราบ้างไม๊เผื่อหยิบสลับกันจะได้ให้ลูกไปดูแล้วขอคืน
3. สอนย้ำให้ลูกไม่ลืมว่า ต้องเก็บของให้เรียบร้อยทุกครั้งที่ใช้เสร็จแล้ว ถ้ามีเพื่อนมายืมต้องให้เขาคนที่ยืมเอาของมาคืนเราทุกครั้ง
4. ของใช้ของลูกพ่อแม่ต้องเขียนชื่อหรือทำสัญลักษณ์ติดไว้ให้ชัดเจน แบบที่ติดแล้วลบหรือแกะออกไม่ได้
5. ทุก ๆ วันพ่อแม่ควรต้องช่วยลูกจัดกระเป๋าให้เรียบร้อยและตรวจดูว่า นำของไปโรงเรียนครบทุกอย่างหรือไม่ โดยให้ลูกมาช่วยกันจัดและตรวจไปพร้อม ๆ กัน ถือว่าเป็นการฝึกลูกให้เป็นเด็กมีระเบียบไปในตัว
6. อธิบายให้ลูกฟังว่าของทุกอย่างที่ลูกมีนี้พ่อแม่ต้องใช้เงินไปซื้อมา ต้องทำงานเหนื่อยจึงมีเงินซื้อมาให้ลูกได้ เราต้องช่วยกันเก็บรักษาให้ดีอย่าทำหายหรือเผลอลืมที่ไหน แต่ถ้าหายบ่อย ๆ ลูกอาจจะต้องโดนหักค่าขนมหรือต้องทำงานที่พ่อแม่กำหนดให้ เพื่อจ่ายเป็นค่าของที่พ่อแม่ต้องเสียเงินซื้อชิ้นใหม่ให้ลูก
7. พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูกว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวซื้อให้ใหม่ หรืออีกกรณีไม่ควรใช้ความดุดันเกรี้ยวกราดกับการทำของหายของลูก เพราะเด็กต้องการคำอธิบาย การสอนสั่งและได้รับโอกาสปรับปรุงตัวมากกว่าการตามใจโอนอ่อนหรือการทำโทษที่รุนแรง
8. ถ้าของหายบ่อย ๆ พ่อแม่ควรพูดคุยกับครูประจำชั้นเพื่อจะได้หาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก