
เด็กพูดช้ากว่าปกติ เพราะ…?
ปกติเด็กจะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ เออ-ออ ตอบโต้กับพ่อแม่อย่างน่ารักน่าเอ็นดูตั้งแต่อายุเข้า 2-6 เดือน พออายุใกล้ ๆ 1 ขวบ เด็กบางคนออกเสียงเรียก แม่ ป๊า หม่ำ …ได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ทุกคนมีความสุขมาก ๆ และเมื่อเด็กเข้าสู่อายุ 1.5 – 2 ขวบ เขาจะสามารถพูดประโยคสั้นได้ ด้วยคำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน บอกเล่าโน่นนี่ได้บ้างตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคน
พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กตามปกติ
• ช่วงอายุ 1-4 เดือน ส่งเสียงอ้อแอ้
• ช่วงอายุ 5-6 เดือน ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ เริ่มหันหาเสียงและเลียนเสียงผู้อื่น
• ช่วงอายุ 9-12 เดือน เริ่มพูดได้เป็นคำพยางค์เดียว แสดงท่าทางสื่อความหมายร่วมด้วย
• ช่วงอายุ 1-1.5 ปี มีการโต้ตอบชัดเจน เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้
• ช่วงอายุ 1.5-2 ปี พูดรวมคำเป็นประโยคง่าย ๆ ได้ เข้าใจคำสั่งที่ยากขึ้น
• ช่วงอายุ 2-3 ปี สามารถพูดเป็นประโยคได้ยาวขึ้น ตอบโต้ได้สื่อสารรู้เรื่องมากขึ้น
แต่มีเด็กอีกหลาย ๆ คนที่เข้าขวบอายุ 2-3 ขวบแล้วยังไม่พูด ไม่คุย ไม่สื่อสารเป็นประโยคกับพ่อแม่ก็มีปรากฏบ่อย ๆ ซึ่งคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะร้อนใจว่าทำไมลูกหลานไม่ยอมพูดสักที?
สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำคือ พาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อให้คุณหมอช่วยตรวจร่างกายของเด็กว่ามีความบกพร่องด้านใด เช่น การได้ยินรับรู้เสียงเป็นปกติหรือไม่ พัฒนาการทางร่างกายด้านสติปัญญาและสมองของเด็กมีอะไรบกพร่องหรือไม่ มีอาการของโรคออทิสติกหรือเปล่า ถ้าทุกอย่างเป็นปกติดีเราก็มาศึกษาวิธีเลี้ยงดูเด็กว่าเราให้เด็กได้ฝึกและเรียนรู้การพูดกันอย่างไรบ้าง
7 เทคนิคช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น
1. ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ อายุ 8 เดือน – 2 ขวบ ดูการ์ตูนต่าง ๆ จาก แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือบ่อย ๆ เป็นเวลานาน ๆ เพราะเด็กจะให้ความสนใจแต่ภาพที่เคลื่อนไหวไปมา เด็กได้แต่นั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้ฝึกการออกเสียง-การขยับกล้ามเนื้อปากหรือการพูดใด ๆ ไม่มีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และเขาจะจำคำพูดประโยคสนทนาที่เป็นสคริปต์มากกว่าการพูดแบบเป็นธรรมชาติทั่วไป
2. พ่อแม่ต้องหมั่นพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ด้วยคำพูดที่สั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ไม่พูดเร็วเกินไป เวลาพูดกับลูกควรหันหน้าตรงกับลูก สบตากันสัมผัสกัน เพื่อสื่อให้เด็กรู้ว่าเรากำลังคุยกับเขาอยู่และไม่จำเป็นต้องพูดกับลูกหลาย ๆ ภาษาเพราะจะทำให้เขาสับสน
3. ให้เด็กได้เข้าสังคมได้เล่นกับเด็กคนอื่นบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาพูดและได้สื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น
4. อย่าพูดแทนลูกไปทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดตามประสาของเขาบ้าง แต่ถ้าตรงไหนลูกพูดไม่ถูกพ่อแม่จึงค่อยสอนให้ลูกพูดในแบบที่ถูกต้อง
5. ผู้ใหญ่ควรตั้งใจฟังสิ่งที่เด็กสื่อสารกับเรา แม้จะเป็นคำบ้างไม่เป็นคำบ้าง เพื่อทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขากำลังพยายามสื่อสารออกมานั้นมีคนให้ความสนใจให้ความสำคัญ แล้วเขาจะอยากพูดมากขึ้น
6. ชวนลูกร้องเพลง อ่านหนังสือนิทานด้วยกันบ่อย ๆ เพราะเป็นการฝึกให้เขาได้ยินและได้ออกเสียงคำพูดประโยคต่าง ๆ ได้มากขึ้น
7. ฝึกให้เด็กออกท่าบริหารปากและริมฝีปากเป็นประจำเพื่อให้กล้ามเนื้อปากและริมฝีปากแข็งแรง