เคล็ดลับสร้างนิสัยรักการเขียนให้ลูก
เด็กที่ชอบขีดเขี่ยเขียน เป็นเด็กฉลาดและมีสมาธิดี (วัยเริ่มหัดเดิน-วัยอนุบาล)
พ่อแม่บางท่านกลุ้มใจมากที่เห็นลูกรักไม่ชอบการเขียนหนังสือ ไม่ชอบทำการบ้าน หรือมากกว่านั้นขึ้นไปอีกคือลูกอายุ 5-6 ขวบแล้วยังเขียนหนังสือไม่ได้ พ่อแม่ก็เครียดกันไปอีกคราวนี้ทำไงดีล่ะ? เราลองมาช่วยกันคิดและหาวิธีปลูกนิสัยรักการเขียนให้กับลูกตั้งแต่อายุน้อยๆกันเถอะค่ะ
ความจริงเรื่องการปลูกฝังสิ่งใดก็ตามให้เด็กนั้นควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเป็นทารก เพราะเด็กกำลังเป็นวัยจดจำ สามารถเลียนแบบพฤติกรรม และมีพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ต่างๆได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ ช่วงวัย 4-6 ขวบ(วัยอนุบาล) สมองส่วนหน้าของเด็กจะพัฒนาการได้รวดเร็วมาก ทักษะ EF (Executive Function คือ ทักษะการบริหารจัดการตนเองชั้นสูง) มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการทางความคิด ความรู้สึก การกระทำต่างๆ การจัดระบบและจัดการเรื่องราวในสมองให้เป็นระเบียบ เป็นต้น
เด็กเริ่มจับดินสอ ปากกา ดินสอสี ได้ตั้งแต่ช่วงวัยเริ่มหัดเดิน และนำดินสอสี ปากกานั้นมาขีดเขี่ยเล่นเกิดความสนุกกับการได้จับและขีดไปเรื่อยๆตามวัย และนี่เป็นช่วงเวลานาทีทองของเด็กและพ่อแม่กับการปลูกนิสัยรักการเขียนให้กับลูกน้อยค่ะ พ่อแม่ควรแสดงความสนุกสนานและชื่นชมให้ลูกได้รับรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นเรื่องดีน่าสนุกชมลูกเก่งมากทุกครั้งที่เขาขีดเขี่ยเขียน (ไม่ควรปล่อยให้ลูกขีดเขี่ยตามลำพังอย่างไม่สนใจ) อย่าลืมนะคะเด็กทุกคนนิยมคำชื่นชมและการแสดงออกซึ่งความรักเอาใจใส่จากพ่อแม่ค่ะ เขาสามารถรับรู้และจดจำได้ว่าทำสิ่งใดแล้วเขาจะได้รับคำชมหรือคำห้ามปราม
การขีดเขี่ยเริ่มต้นตั้งแต่วัยทารก
เด็กเกือบทุกคนชอบการขีดเขี่ยนั่นก็เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก เมื่อน้องหนูเข้าสู่วัย 2-3 ขวบเขาจะเริ่มขีดเป็นเส้นยาวๆ หรือวาดวงกลม ภาพเหลี่ยมเล็กๆได้และเริ่มมีคำแทน “สิ่ง” ที่วาดนั้นว่าสิ่งนั้นคืออะไร (Symbolization ) ซึ่งอาจไม่เหมือนของจริงเลย พ่อแม่ควรเข้าใจและตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกบอกว่าเขากำลังวาดภาพอะไร หรือร่วมกันวาดภาพและขีดเขียนไปพร้อมๆกับลูกก็ยิ่งเป็นการดีมากค่ะ ร่วมกันทำกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก มือ นิ้วมือ ตา สมอง) และเสริมสร้างความรักความอบอุ่นให้กับเด็ก (ทุกการขีดเขี่ยเขียนหรือการวาดภาพของเด็ก เป็นสัญญาณที่ดีที่เด็กรู้จักมอง คิด และเห็นความสัมพันธ์ของภาพ)
เมื่อลูกต้องการเขียนหนังสือพ่อแม่ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ลูกจะฉลาดมีสมาธิดีต้องขีดๆเขียนๆได้สนุกและชื่นชอบกับสิ่งที่เขาทำอย่างมีความสุข
1. เมื่อลูกขีดเขียนอะไรก็ตามอาจเขียนไม่สวย เขียนผิดเขียนถูก เลอะเทอะบ้าง ก็อย่าเพิ่งไปดุว่าหรือตำหนิแรงๆ หรือบังคับให้เขียนตามใจพ่อแม่จนเด็กรู้สึกกดดัน ขาดอิสระกับงานเขียนของตนและเกิดอารมณ์เบื่อหน่ายไม่อยากเขียนไม่ชอบการเขียน
2. บางครั้งลูกอาจขีดเขียนเลอะเทอะที่พื้นบ้าน กำแพงบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือหรือสมุดต่างๆ พ่อแม่ควรใจเย็นๆและถ้าไม่ลำบากเกินไปก็ปล่อยให้เขาสนุกกับงานเขียนและจินตนาการของเขาดีกว่าค่ะ แล้วค่อยพาลูกมาช่วยกันทำความสะอาดในส่วนที่เขาเขียนเลอะไว้ พร้อมอธิบายให้ลูกฟังว่าควรหรือไม่ควรขีดเขียนตรงไหนบ้าง
3. หาอุปกรณ์การเขียนที่หลากหลายแบบน่ารักๆ ชวนให้ลูกเกิดอารมณ์อยากเป็นนักเขียนอยากวาดภาพ ระบายสีต่างๆ เป็นเครื่องดึงดูดให้เกิดความกระตือรือร้นกับการขีดเขียนของเขา
4. เมื่อลูกเขียนทุกครั้ง พ่อแม่ควรให้กำลังใจและอาจนั่งเขียนอะไรเช่นกันอยู่ข้างๆลูกเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกดูด้วยค่ะ
5. หมั่นชื่นชมอย่างจริงใจกับลูกเมื่อเขาอยากเขียน กำลังเขียนและเขียนเสร็จแล้วทุกครั้ง
คนที่มีทักษะการเขียนที่ดีโดยมากจะเป็นคนที่สามารถเรียบเรียงความคิด คำพูดต่างๆ และถ่ายทอดออกมาเป็นข้อมูลที่ดีได้อย่างถูกต้อง มีสมาธิดีและจัดระเบียบทางความคิดได้ดีด้วย
#EcofriendlyToy #sansanook #sansanookpapertoy #sansanookplaytime #momandbaby #บ้านกระดาษ #ของเล่นกระดาษลัง
Facebook: Sansanook