
อย่า! ทะเลาะกันต่อหน้าลูก
ในความเป็นจริงของคำว่า “ครอบครัว” ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ผู้หลักผู้ใหญ่ของครอบครัว บางบ้านยังมีญาติพี่น้องรวมอยู่ด้วย ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ถ้าที่ไหนมีคนอยู่รวมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปย่อมมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องของความสุขและเรื่องปัญหาต่าง ๆ ปนกันไปแล้วแต่ว่าวันไหนเวลาไหนจะเป็นเรื่องอะไร
เรื่องราวแห่งความสุขของครอบครัวย่อมเป็นสิ่งที่ดีกับทุกคน แต่ถ้าเป็นเรื่องปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เกิดขึ้นล่ะผู้ใหญ่ควรทำอย่างไรที่จะทำให้เรื่องเล็กหายไปและทำเรื่องใหญ่ให้คลี่คลายเล็กลงได้ อันนี้คงต้องใช้สติปัญญาแก้ไข ที่สำคัญอย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินปัญหาและไม่ใช้ความรุนแรงต่าง ๆ ทั้ง คำพูด การกระทำ ยิ่งโดยเฉพาะถ้าในครอบครัวมีเด็กเล็ก ๆ รวมอยู่ด้วย
พ่อแม่หรือผู้ใหญ่บางท่านทะเลาะกันต่อหน้าลูก โดยใช้คำส่อเสียดประชดประชัน ใช้คำหยาบต่าง ๆ หรือการแสดงออกด้วยพฤติกรรมรุนแรง เช่น ขว้างปาทำลายข้าวของในบ้าน ที่หนักขึ้นไปอีกคือ ทำร้ายร่างกายกัน ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมหาศาลกับความรู้สึก จิตใจและพัฒนาการของเด็กอย่างยิ่ง
เด็กจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่พ่อแม่แสดงออกได้อย่างแม่นยำและฝังใจ รวมถึงมีพฤติกรรมเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว เราคงเคยเห็นเด็กหลาย ๆ คน ชอบใช้คำหยาบคาย ใช้เสียงตะโกน-ตะคอก-ตวาด มีเรื่องชกต่อย/ตบตีกับเพื่อน พฤติกรรมก้าวร้าวขาดความรับผิดชอบและไม่มั่นใจในตัวเอง พอศึกษาหรือสอบถามเด็กอย่างลึกลงไป ส่วนมากพื้นฐานพฤติกรรมเหล่านี้มาจากครอบครัวของเด็กนั่นเอง
ผลกระทบที่เด็กได้รับจากการที่พ่อแม่ชอบทะเลาะกันต่อหน้าลูก
1. บั่นทอนพัฒนาการทุกด้านของเด็ก ทั้งร่างกายและจิตใจ สะสมความเครียด ขาดสมาธิ หม่นหมอง เศร้าซึม สับสัน มีปมในใจ
2. พฤติกรรมเลียนแบบในทางลบ เช่น ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ใช้คำหยาบคาย ส่อเสียด ประชดประชัน ก้าวร้าว เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แต่เด็กบางคนกลายเป็นเด็กเก็บกดซึมเศร้า แยกตัวเพราะกลัว-กังวลไปทุกสิ่ง
3. ขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ชอบตัดปัญหามากกว่าแก้ไขปัญหา
4. รู้สึกชีวิตไม่มีความมั่นคง บ้านไม่มีความสุข ขาดความไว้ใจผู้อื่น