
พัฒนาการด้านการพูดของเด็กวัย 9 เดือน – 5 ขวบ
พัฒนาการด้านการพูดของเด็กวัย 9 เดือน – 5 ขวบ
แสนสนุกชวนสำรวจและเตรียมพร้อมเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อยและคลายข้อกังวลใจของพ่อๆแม่ๆทั้งหลาย

สำหรับบ้านไหนที่ลูกน้อยไม่ยอมพูด หรือมีพัฒนาการล่าช้ากว่าอายุ
เรามีเคล็ดลับมาฝากดังนี้
1. ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ สบตากันไว้ช่วย ลูกได้!
เคล็ดลับสำคัญในการช่วยกระตุ้นการพูดนั้นก็คือการสบตา มองหน้าลูกค่ะ การสื่อสารพูดคุยโดยมองหน้าสบตา ส่งรอยยิ้มให้กับลูกเป็นจุดเริ่มต้นและหัวใจของ “การสื่อสาร” ที่จะช่วยให้ลูกอยากสื่อสารกลับมาหาเราเช่นกัน
2. คุยกับลูกบ่อยๆ ชวนเม้าท์มอยได้สารพัด
ลูกสามารถรับรู้ความเครียดและกังวลใจของเราได้ ลองเปลี่ยนจากบรรยากาศการสอนหรือกดดัน (เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราทำลูกเครียดอยู่นะ!) มาเป็นบรรยากาศสบายๆ ผ่อนคลาย ชวนคุยเรื่องนู้นเรื่องนี้รอบๆตัวในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องที่ลูกให้ความสนใจ อาจบอกเล่าให้ลูกฟังถึงสิ่งต่างๆที่เราทำอยู่ เช่น
เวลาใส่เสื้อให้ลูกแทนที่จะใส่เงียบๆเราก็พูดไปด้วยได้ “วันนี้แม่กับลูกใส่เสื้อสีเดียวกันเลยนะ เสื้อของพวกเราสีฟ้า สีฟ้าเหมือนท้องฟ้า และก็เหมือนน้ำในสระที่โรงเรียนของพี่สาวเลยด้วยนะ”
3. ออกท่าทาง หน้าตา เล่นใหญ่โชว์ลูกซะหน่อย
เวลาพูดกับลูกลองใช้ท่าทาง ขยับมือไม้ ยักคิ้วหลิ่วตา แสดงออกทางสีหน้าเพิ่มขึ้นอีกนิด
เป็นการช่วยดึงดูดความสนใจ ทำให้รู้สึกน่าตื่นเต้น ช่วยกระตุ้นให้ลูกสนใจฟังเรามากขึ้น ลูกจะรู้สึกว่าการพูดมันดูสนุกสนานบันเทิงใจจนลูก อยากจะส่งเสียงทำท่าทางเลียนแบบตามเรา
เช่น เวลาป้อนนมลูกทำท่าสูดดมหอมกลิ่นนมไปด้วยแล้วบอกว่า “นมใครเอ่ยห้อมหอม น่าอร่อยจัง” หรือเวลากลางคืนก่อนปิดไฟ ลองทำท่านกฮู้กแล้วร้อง “ฮู้กๆ ฮู้กๆ ดวงดาวเต็มฟ้า นกฮู้กออกหากิน เด็กๆเข้านอน” ก่อนบอกฝันดีลูกน้อย
4. แม่จ๋า พ่อจ๋า ใจเย็นๆ ให้โอกาสลูกพูดบ้าง
เวลาที่ลูกอยากได้อะไร อย่าพึ่งรีบยื่นให้!
ให้เราชวนลูกพูดก่อนค่อยยื่นของสิ่งนั้นให้ลูก เช่นถ้าลูกอยากได้นม เราก็พูดคำว่า กินนม กินนม กับลูกก่อน แล้วให้ลูกส่งเสียงตอบรับเราถึงยื่นนมให้ หรือถ้าลูกเอื้อมมืออยากได้ขอลเล่น ให้เราหยิบของสิ่งนั้นมา เรียกชื่อให้ลูกฟังหลายๆครั้ง แล้วทิ้งจังหวะให้ลูกพยายามส่งเสียง เปล่งคำพูด หรือเลียนเสียงเราก่อน เราจึงจะยื่นของให้
หรือสำหรับเด็กวัย 2 – 3 ขวบขึ้นไปพยายามตั้งคำถามให้ลูกตอบก่อน เช่น แทนที่เราจะพาลูกไปเล่นที่สวนเลย ให้ถามลูกก่อนว่า “ไปเล่นข้างนอกกันมั้ยคะวันนี้” แล้วรอให้ลูกตอบก่อน จากนั้นลองชวนคุยว่าลูกชอบเล่นอะไร เล่นกับใคร แล้วเราค่อยออกบ้าน พยายามใช้โอกาสต่างๆในกิจกรรมประจำวันมาเป็นเรื่องชวนให้ลูกพูด ตอบ คุยกับเรา
5. ฉันอยากจะย้ำอีกสักครั้ง ให้เธอฟังฉันอีกสักครั้ง แค่อยากจะย้ำจนเธอนั้นมั่นใจ
สำหรับเด็กๆที่พูดไม่ชัด เราสามารถฝึกเค้าได้ด้วยการช่่วยย้ำการออกเสียงที่ถูกต้องเวลาลูกพูดผิด
*ข้อควรระวัง
– อย่าพูดไม่ชัดตามลูก หรือพูดเล่นกับลูกด้วยภาษาเด็กที่ไม่ชัด
– เวลาแก้ไขคำให้ลูก ให้พูดย้ำใหม่แบบเป็นธรรมชาติ ใช้น้ำเสียงปกติหรือน้ำเสียงนุ่มนวล ไม่ดุ
– พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน รอให้เด็กโตแล้วเดี๋ยวคงแก้ได้เอง เพราะการออกเสียงที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ควรฝึกฝน
– ชื่นชมลูกน้อยเมื่อมีพัมนาการ สามารถออกเสียงได้ถูกต้อง
6. โชว์ลูกคอให้ลูกบันเทิง
ข้อนี้พิเศษสำหรับบ้านไหนที่คุณพ่อคุณแม่มีดนตรีในหัวใจ การสอนคำศัพท์ใหม่ๆผ่านบทเพลงถือว่าได้ผลชะงัด ณ จังงัง เด็กๆจำดีและโดนใจสุดๆ
แต่ถึงไม่มีดนตรีในหัวใจก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ ลูกเราซะอย่าง เราร้องเพี้ยนแค่ไหนลูกก็รักเราค่ะ!
ปล. ยิ่งถ้ามีท่าเต้นประกอบด้วยละก็สนุกสนานกันทั้งบ้านทีเดียว แถมเอาไว้โชว์ให้ญาติๆชื่นชมได้ด้วยนะคะ หุหุ
เรื่อง : กัญญา อดิศรพันธ์กุล (พี่กิมเล้ง)
ภาพ : กัญญา อดิศรพันธ์กุล (พี่กิมเล้ง)
#EcofriendlyToy #sansanook #sansanookpapertoy #sansanookplaytime #momandbaby #บ้านกระดาษ #ของเล่นกระดาษลัง
Facebook: Sansanook