
ตรวจสอบพัฒนาการ 5 ข้อที่ลูกน้อยควรทำได้ในวัย 5 ขวบ
เด็กๆเติบโตจากการสะสมความสำเร็จ “ตรวจสอบพัฒนาการ 5 ข้อที่ลูกน้อยควรทำได้ในวัย 5 ขวบ”

พัฒนาการที่ดีของลูกรัก เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆที่ได้ฝึกฝนเรียนรู้
เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องช่วยส่งเสริม เฝ้าระวัง ให้ลูกของเราได้สะสมความสำเร็จ
ไปทีละเล็กทะละน้อย และเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ครบทุกด้านทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
เอาล่ะ! มาเริ่มตรวจสอบกันเลยค่ะ
- การเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor)
: เดินต่อส้นเท้าโดยเอาปลายนิ้วเท้าต่อส้นเท้าเดินต่อเนื่องได้ 10 ก้าว
เราควรให้ลูกๆได้เล่นและทำกิจกรรมที่ใช้ร่างกายในหลากหลายท่าทาง เช่น การคลาน มุด ลอด กระโดด ปีนป่าย เป็นต้น หรืออาจหากิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้ลูกได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อต่างๆ ครบถ้วน แต่อย่าบังคับ เคร่งเครียด หรือฝืนให้ลูกทำในสิ่งที่ยากจนเกินไปนะคะ เพราะความสุข ความภูมิใจ ที่ลูกได้รับตอนวิ่งเล่นสำรวจโลกด้วยตัวเองและทำกิจกรรมต่างๆสำเร็จคือสิ่งที่สำคัญเช่นกันค่ะ - การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา (Fine Motor)
: จับดินสอขีดเขียนในท่าที่ถูกต้องได้
ซึ่งการฝึกให้ลูกน้อยสามารถจับดินสอได้ถูกต้องนี้จะช่วยลดความเมื่อยล้าในการเขียน ช่วยป้องกันการเสียดสีที่อาจทำให้เกิดตุ่มพอง ช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักมือได้ง่ายขึ้น สามารถขีดเขียนลักษณะที่ซับซ้อนมากกว่าเส้น เช่นการเขียนตัวอักษรต่างๆได้ดีขึ้น ทำให้ลูกมีสมาธิในการเขียนและสนุกกับการเขียนมากขึ้น
Tips : เราอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกลูกด้วยดินสอไม้ เพราะมีความแข็งแรง ทนต่อแรงกด ไม่หักง่าย มีขนาดที่พอดีกับมือเด็กๆวัย 5 ขวบที่จะฝึกบังคับกล้ามเนื้อมัดเล็ก ช่วยให้ลูกเขียนหรือวาดได้อย่างเต็มที่ - ความเข้าใจภาษา (Receptive Language)
: เลือกสี 8 สีตามคำสั่งได้ถูกต้อง
ความเข้าใจภาษา คือ ความสามารถในการเข้าใจ รู้ภาษา ท่าทาง สัญลักษณ์ที่ผู้อื่นแสดงออกมาผ่านการรับรู้ทางการมองเห็น หรือได้ยิน โดยเด็กในวัย 5 ขวบเป็นช่วงเริ่มต้นของวัยเรียน นอกเหนือจากการเข้าใจสีแล้วคุณพ่อคุณแม่ควรสอนคำศัพท์ในชีวิตประจำวันให้ลูก เช่น อวัยอวะต่างๆ ป้ายสัญลักษณ์ทั่วไปที่จำเป็น อย่างป้ายห้องน้ำ ชาย-หญิง สัญลักษณ์และชื่อเรียกของสถานที่ต่างๆ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เป็นต้น ซึ่งตามพัฒนาการเด็กๆในวัยนี้มีความสามารถที่จะจดจำคำศํพท์ต่างๆได้มากถึง 8,000 คำแล้วค่ะ - การใช้ภาษาสื่อสาร (Expressive Language)
: พูดคุยเล่นกับเพื่อนๆได้
การใช้ภาษาหรือการแสดงออกทางภาษาเป็นสิ่งที่ต้องมีการสอน การเรียนรู้ มีขั้นตอนเป็นลำดับ หมายความว่าเด็กๆต้องเกิดการสั่งสมประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม คนรอบตัว มีการเลียนแบบ เลียนเสียง เชื่อมโยงความเข้าใจ สภาณการณ์ คลังคำศัพท์เก่าที่มีและคำศัพท์ใหม่ๆ มีความจำที่จะจำได้ และนำออกมาใช้อย่างถูกความหมายที่ต้องการสื่อสาร ดังนั้นสื่อ การ์ตูน คลิปวีดีโอต่างๆที่เราเปิดให้ลูกดูจึงมีส่วนอย่างมากที่จะส่งผลต่อการใช้ภาษาของลูก คุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังและใส่ใจที่จะคัดเลือกสื่อที่ดี มีคุณภาพ เป็นสื่อสร้างสรรค์ ใช้ภาษาที่ถูกต้อง เพื่อสร้างประสบการณ์และคลังคำศัพท์ที่ดีให้กับลูก - การช่วยเหลือตนเองและสังคม (Personal – Social)
: เล่นบทบาทสมมุติเลียนแบบผู้ใหญ่เป็น
ในหัวข้อนี้มีหัวข้อย่อยที่เด็กๆต้องเรียนรู้เป็นลำดับขั้นค่ะ เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอด ช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันให้ได้ จากนั้นคือการเรียนรู้ที่จะสามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น เข้าสังคมได้ เรียนรู้ที่จะมีเพื่อน มีสังคมอื่นๆนอกเหนือจากบ้านและครอบครัว และพัฒนาต่อเนื่องไปสู่พัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับด้านคุณธรรม (Moral Development) ที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมหวังอยากให้ลูกเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ดังนั้นจุดเล็กๆที่เรามองเห็นในวันนี้ อย่างการให้ลูกเล่นกับเพื่อนๆ ให้ลูกยอมรับกติกา ความแตกต่าง การเป็นผู้ให้และผู้รับ ทักษะที่ได้ผ่านการเล่นนี้จะค่อยๆพัฒนาและกลายเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างมากต่อลูกในอนาคตค่ะ
สำหรับบ้านไหนที่ลูกๆทำได้ไม่ครบทั้ง 5 ด้าน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลุ้มใจไปค่ะเพราะเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการที่โดดเด่นแตกต่างกันไป แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะที่สำคัญที่สุดคือพัฒนาการเหล่านี้ต้องอาศัยผู้ใหญ่ช่วยส่งเสริม จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างเรานี้แหละค่ะที่จะช่วยเหลือให้ลูกน้อยสามารถทำได้เพื่อเตรียมความพร้อมให้เค้า และหากไม่สามารถทำได้จริงๆก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะต้องกล้าหาญและพาลูกของเราไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือต่อไปค่ะ
สู้ๆนะคะ
อ้างอิง : แนวทางการทดสอบนี้อ้างอิงจากคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
Developmental Surveillance and Promotion Manual (DSPM)
ซึ่งคู่มือตัวเต็มจะประกอบด้วยวิธีการตรวจสอบอย่างละเอียดตั้งแต่แรกเกิด – 5 ขวบ
โดยจะมีข้อปฎิบัติง่ายๆที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ด้วยตนเอง และควรตรวจสอบลูกน้อยของเราทุกเดือน เพื่อให้สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการครบทุกด้านตามช่วงวัย
สามารถ Download ฉบับเต็มของสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ ได้ที่
http://nich.anamai.moph.go.th/download/DSPM.pdf
#EcofriendlyToy #บ้านกระดาษ #ของเล่นกระดาษลัง #sansanook #sansanookpapertoy #sansanookplaytime
เรื่อง : กัญญา อดิศรพันธ์กุล (พี่กิมเล้ง)
ภาพ : กัญญา อดิศรพันธ์กุล (พี่กิมเล้ง)