
Teach Less Learn More สอนน้อยเรียนรู้มาก
Teach Less Learn More #สอนน้อยเรียนรู้มาก
ชาวญี่ปุ่น เชื่อว่า การให้เด็กเล่นคือการเรียนรู้ เด็กปฐมวัย เด็กอนุบาลในประเทศญี่ปุ่นที่ไปโรงเรียนนั้นจะได้เล่นและเล่น ไม่มีการสอนหนังสือ เด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมต่างๆมากมายพร้อมได้รับการฝึกทักษะให้เด็กรับผิดชอบเรื่องของตัวเอง เช่น แปรงฟันเอง ล้างมือ เข้าห้องน้ำ ช่วยกันเก็บของเล่น เอารองเท้าเก็บตรงช่องของตน จัดวางชุดอาหารและรับประทานด้วยตนเอง การรู้จักบริการผู้อื่น ด้วยระบบความคิดที่เด็กรู้ได้คิดเองเป็น มีการช่วยกันคิดแก้ปัญหาต่างๆกันเองในเด็กๆ ครูญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่เด็กได้รับมอบหมายให้ทำเพื่อเป็นการฝึกความรับผิดชอบและการกล้าแสดงออก
โรงเรียนไม่ต้องการเน้นเรื่องการสอนที่เข้มงวดและพ่อแม่ของเด็กก็ไม่ได้ต้องการเด็กที่ฉลาดปราชญ์เปรื่องแต่พ่อแม่ต้องการให้ลูกมีความสุขกับการมีชีวิตและมีพัฒนาการที่ดีครบถ้วน สุขภาพร่างกายแข็งแรง อารมณ์แจ่มใส จิตใจดี สมองดี และมีการอยู่ร่วมกันในกลุ่มเด็กๆ รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าใจ ทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีความสุข มีบุคลิกภาพที่ดี มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงออก เสริมสร้างจินตนาการของเด็กให้กล้าเปิดเผยออกมา
“ชาวญี่ปุ่นสอนเด็กให้มีคุณภาพโดยเริ่มต้นตั้งแต่วัยอนุบาล ให้เด็กเล่นเป็นการเรียน และเรียนรู้ผ่านการเล่น ให้เด็กได้เรียนรู้ตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นกำลังใจและพลังบวกคอยช่วยเหลือน้อยที่สุด”
การเล่นช่วยส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก สมรรถนะของร่างกาย และรู้จักการบริหารจัดการอารมณ์ของตน พัฒนาความสามารถในการรู้คิดรู้ทำ และอีกสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสอนให้รู้จักการทำงาน หรือการเล่นสนุกเป็นกลุ่มเป็นทีมโดยการคละอายุและเพศ โดยกระบวนการที่ไม่จำกัดเวลา สถานที่ ส่งเสริมให้ระบบความคิดและจินตนาการของเด็กไม่ติดขัด โดยคุณครูจะเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและกระตุ้นให้เด็กแก้ไขสถานการณ์ แต่ไม่ใช่ผู้สั่งการผู้วางแผนให้
หลักสูตรของการเรียนการสอนและกิจกรรมสำหรับเด็กอนุบาลญี่ปุ่น จึงเป็นรูปแบบ 6 + 2 คือ
1.ส่งเสริมด้านพลานามัย
2. ส่งเสริมเรื่องสังคมศึกษา
3. ธรรมชาติศึกษา
4. การวาดภาพและการฝีมือ
5. ดนตรีและจังหวะ
6. ภาษาและการสื่อสาร
บวกอีก 2 หลักสูตรพิเศษที่ญี่ปุ่นส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้เด็กทุกคนนั้นคือ
– ความปลอดภัย ทั้งจากมนุษย์ หรือภัยธรรมชาติเป็นต้น และสามารถป้องกัน รับมือ ขอความช่วยเหลือ หรือให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง
– สอนให้เด็กมีจิตสาธารณะ เพื่อเติบโตไปเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ โดยมุ่งเน้น
ฝึกให้เด็กตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เข้าใจ สิทธิและหน้าที่ของตนเอง
ดังนั้นหลักสูตรแบบ Teach Less Learn More หัวใจก็คือการให้เด็กได้เล่นสนุกตามวัย
และได้เรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่างๆ คิด วิเคราะห์ ประเมิณ ด้วยตนเอง
“ได้เรียนรู้ตนเอง” เป็นการปูพื้นฐานให้แข็งแรง เพื่อให้เติบโตขึ้นได้อย่างเปล่งประกาย 🙂
เรื่องและภาพโดย กัญญา อดิศรพันธ์กุล (พี่กิมเล้ง)
และ เกษแก้ว ตันติสุวรรณนา
#EcofriendlyToy #sansanook #sansanookpapertoy #sansanookplaytime #momandbaby #บ้านกระดาษ #ของเล่นกระดาษลัง